ภาพรวมของ ภายในฟาร์ม

ผู้ผลิตเนื้อวัวและเนื้อแกะชาวออสเตรเลียได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ถึงความสามารถในการเลี้ยงสัตว์ และเทคนิคในการบริหารจัดการฟาร์ม อุตสาหกรรมปศุสัตว์แห่งออสเตรเลียภาคภูมิใจในวิถีของการใช้นวัตกรรมด้านพันธุกรรมชั้นแนวหน้าเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตในอุตสาหกรรมปศุสัตว์ให้ก้าวไปข้างหน้า เจ้าของฟาร์มชาวออสเตรเลียแต่ละคนก็พร้อมพัฒนาพื้นที่ฟาร์ม ปรับปรุงทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และการบริหารจัดการน้ำอยู่เสมอ โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างมาตรฐานอาหารปลอดภัยให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผ่านระบบติดตามและรับรองคุณภาพทั่วทั้งห่วงโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมของเราเจริญก้าวหน้าขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของบริษัทผู้ผลิตที่บริหารแบบครอบครัว ผู้ผลิตที่มุ่งมั่นในการส่งต่อเนื้อวัวและเนื้อแกะระดับโลกให้ถึงมือผู้บริโภคทุกคน

เนื้อวัวออสเตรเลีย

เนื้อวัวออสเตรเลีย

ออสเตรเลียผลิตเนื้อวัวได้เป็น 3% ของโลก และเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลก แม้ว่าเราจะผลิตเนื้อวัวในทุกเขตและทุกรัฐ แต่เกือบ 50% ของฝูงวัวในประเทศอาศัยอยู่ในรัฐควีนส์แลนด์ โดยวัวเลี้ยงในออสเตรเลียจะถูกเลี้ยงในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และโรงเลี้ยงเป็นหลัก

อุตสาหกรรมเนื้อวัวแห่งออสเตรเลียแบ่งคร่าวๆ ตามพื้นที่การผลิตได้เป็น กลุ่มภาคเหนือ และภาคใต้ ระบบการผลิตในกลุ่มภาคเหนือ จะเป็นการเลี้ยงวัวจำนวนน้อยต่อพื้นที่กว้าง ซึ่งจะมีวัวเลี้ยงในปริมาณสูง สายพันธุ์วัวที่โดดเด่นในกลุ่มนี้ คือ วัวเขตร้อน (Bos Indicus เช่น บราห์มัน) หรือวัวเขตร้อนลูกผสม (เช่น เดราท์มาสเตอร์) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับการเลี้ยงในสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้ง ในทางกลับกัน ระบบการผลิตในกลุ่มภาคใต้ จะเป็นการเลี้ยงวัวจำนวนมากต่อพื้นที่เล็กกว่า ซึ่งจะมีวัวเลี้ยงในปริมาณต่ำกว่า สายพันธุ์วัวที่โดดเด่นในกลุ่มนี้ คือวัวเขตหนาว (Bos Taurus เช่น แองกัส หรือเฮียร์ฟอร์ด) ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่เหมาะกับการเลี้ยงในสภาพอากาศที่หนาวเย็นกว่า

เนื้อวัวเขตร้อน (BOS INDICUS)

เนื้อวัวเขตร้อน (BOS INDICUS)

มีถิ่นกำเนิดมาจากเอเชีย วัวสายพันธุ์เขตร้อน (Bos Indicus) ชอบอยู่ในเขตร้อนชื้น อาทิ เขตภาคเหนือของออสเตรเลีย ขนสั้นที่ลื่นเป็นมันของวัวพันธุ์นี้ รวมถึงสารเคมีในเหงื่อที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมช่วยไล่เห็บ และพยาธิชนิดอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ วัวเขตร้อนในบางสายพันธุ์ยังสามารถผลิตสารเคมีที่หางเพื่อใช้เป็นยากันแมลงส่วนตัวในยามที่สะบัดหางไปมาเพื่อไล่แมลงวัน

วัวเขตร้อนมักจะตัวใหญ่กว่า และมีขาที่ยาวกว่าทำให้เคลื่อนตัวไปหาอาหารและน้ำในพื้นที่กว้างใหญ่ และมีอาหารอยู่เป็นจุดๆ ได้อย่างคล่องตัว ถือเป็นนักล่าอาหารตัวยงโดยกำเนิด ทำให้วัวพันธุ์นี้สามารถปรับตัวได้เป็นอย่างดีในสภาพอากาศที่แห้งแล้ง

เราสามารถจำแนกวัวที่สืบเชื้อสายมาจากวัวเขตร้อนได้จากหนอกที่อยู่ระหว่างไหล่และหลังในลักษณะที่คล้ายกับหนอกของอูฐ ซึ่งตรงนี้เองที่วัวพันธุ์นี้ใช้เก็บไขมันเพื่อเอาไว้ใช้ในยามจำเป็น ทั้งยังมีหูที่ย้วยใหญ่ และมีเหนียง (ถุงหย่อนบริเวณหน้าอก) ที่ช่วยรักษาความเย็นให้กับวัว

สายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ บราห์มัน, เดราท์มาสเตอร์, ซานต้าเกอร์ทรูดิส, แบรงกัส (ลูกผสมระหว่างแองกัสกับบราห์มัน) และบราห์ฟอร์ด (ลูกผสมระหว่างเฮียร์ฟอร์ดกับบราห์มัน)

เนื้อวัวเขตหนาว (BOS TAURUS)

เนื้อวัวเขตหนาว (BOS TAURUS)

วัวเขตหนาวมีพื้นเพมากจากยุโรป และมักจะเป็นวัว ‘สายพันธุ์อังกฤษ’ วัวพันธุ์นี้ชอบอากาศหนาว และมักพบในเขตภาคใต้ของออสเตรเลีย เป็นวัวที่มีขนหนาเพื่อรองรับกับอากาศที่หนาวเย็นขึ้นในช่วงฤดูหนาว และไม่มี 'หนอก' ที่เห็นได้ชัดเจนเหมือนกับวัวเขตร้อน (Bos Indicus)

วัวชนิดนี้เป็นวัวสายพันธุ์เล็กจึงโตเต็มวัยได้เร็วกว่า และสร้างมวลกล้ามเนื้อได้เร็วกว่าวัวเขตร้อน (Bos Indicus) เป็นที่เชื่อกันว่าวัวเขตหนาวสายพันธุ์ที่ดีที่สุดคือ วัวแองกัส ซึ่งมีถิ่นกำเนิดมาจากสก็อตแลนด์ แองกัสจัดเป็นสายพันธุ์วัวที่ปรับตัวได้ดี และมีลักษณะทางพันธุกรรมที่โดดเด่น มักจะถูกนำไปผสมกับสายพันธุ์อื่นเพื่อเสริมคุณภาพให้กับวัวลูกผสม

สายพันธุ์ที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ แองกัส เฮียร์ฟอร์ด, ชอร์ตฮอร์น, ชาร์โรเล่ส์, ซิมเมนทอล และเมอร์เรย์ เกรย์

เนื้อวัววากิว

เนื้อวัววากิว

วากิว คือวัวสายพันธุ์ญี่ปุ่นที่ถือกำเนิดมาจากวัวพื้นเมืองของเอเชีย คำว่า ‘Wa’ (วา) แปลว่า ประเทศญี่ปุ่น และ ‘gyu’ (กิว) แปลว่า เนื้อวัว โดยถึงแม้ว่าจะมีพื้นเพมาจากเอเชีย แต่วัวสายพันธุ์นี้จัดอยู่ในตระกูลของวัวเขตหนาว (Bos Taurus)

วัววากิวเป็นวัวที่เลี้ยงไว้ใช้งานในญี่ปุ่นมานานนับศตวรรษเพราะมีความกำยำ โดยเซลล์ไขมันที่แทรกอยู่ในกล้ามเนื้อในปริมาณมากคือแหล่งพลังงานพร้อมใช้ของพวกมัน

ในวันนี้ ออสเตรเลียมีฝูงวัววากิวเลี้ยงนอกประเทศญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยกว่า 80-90% ของการผลิตภายในประเทศนั้นเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก หลักการเลี้ยงวัววากิวที่สืบทอดกันมาจะเป็นการเลี้ยงวัวในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และจากนั้นจะย้ายพวกมันเข้าไปอยู่ในโรงขุนไฮเทคเป็นระยะเวลาตั้งแต่หนึ่งปีถึง 600 วัน ทั้งนี้ กระบวนการผลิตวากิวจะใช้เวลายาวนานกว่ากระบวนการผลิตเนื้อวัวเลี้ยงด้วยหญ้าหรือธัญพืช

เนื้อวากิวมีความโดดเด่นในส่วนของไขมันลายหินอ่อนที่มีผลทำให้เนื้อวัวที่ได้มีความฉ่ำนุ่ม และมีเนื้อสัมผัสที่แน่นเต็มคำ โดยเนื้อวากิวมักจะมีส่วนประกอบของไขมันที่นุ่มกว่า และเนื้อสัมผัสที่ละเอียดกว่าเมื่อเทียบกับเนื้อวัวชนิดอื่น

เนื้อแกะออสเตรเลีย

เนื้อแกะออสเตรเลีย

ออสเตรเลียเป็นผู้ส่งออกเนื้อแกะรายใหญ่ที่สุด และเป็นผู้ผลิตเนื้อลูกแกะและเนื้อแกะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก

ในประเทศออสเตรเลียมีการเลี้ยงสัตว์ในสภาพภูมิอากาศที่หลากหลาย ทั้งในพื้นที่แห้งแล้ง และกึ่งแห้งแล้งของภูมิภาคที่ห่างไกลจากชายฝั่ง ไปจนถึงบริเวณที่มีฝนตกชุกในรัฐนิวเซาท์เวลส์ วิกทอเรีย เซาท์ออสเตรเลีย แทสเมเนีย และทางตอนใต้ฝั่งตะวันตกในภาคตะวันตกของออสเตรเลีย

แกะทุกตัวในออสเตรเลียถูกเลี้ยงในทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ และโดยส่วนใหญ่แล้วมักจะจบกระบวนการในทุ่งหญ้า จะมีเจ้าของฟาร์มแกะเพียงส่วนน้อย (ประมาณ 5%) ที่มีการป้อนธัญพืชในช่วงท้ายเพื่อเร่งการเติบโตของแกะ

เนื้อแพะออสเตรเลีย

เนื้อแพะออสเตรเลีย

ในออสเตรเลีย กระบวนการผลิตเนื้อแพะสามารถแบ่งเป็นสองประเภทหลักๆ ได้แก่ การเลี้ยงในทุ่งหญ้า และการเลี้ยงในฟาร์ม

การเลี้ยงในทุ่งหญ้าหมายถึงการเลี้ยงปล่อยอิสระในทุ่งโล่งไร้การกักขัง และมักจะส่งเข้าโรงชำแหละได้เป็นประจำทุกปี ส่วนการเลี้ยงในฟาร์มจะหมายถึงสัตว์ที่ได้รับการกำกับดูแลเป็นพิเศษเช่นเดียวกันกับวิถีการเลี้ยงแกะและวัวของออสเตรเลีย แพะที่เลี้ยงในทุ่งหญ้า (หรือที่รู้จักในชื่อ แพะที่ปล่อยอิสระ แพะพุ่มไม้ หรือแพะป่า) เป็นการเลี้ยงแบบผสมสายพันธุ์ ซึ่งปรับตัวเข้ากับปริมาณน้ำฝนที่ต่ำ และอากาศที่ค่อนไปทางแห้งแบบทุ่งหญ้าของออสเตรเลียได้เป็นอย่างดีในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้ผลิตที่เลี้ยงแพะแบบครบวงจรในพื้นที่ทุ่งโล่ง และบริหารกิจการเลี้ยงแพะควบคู่ไปกับการเลี้ยงแกะและวัวในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แพะที่เลี้ยงในทุ่งหญ้าถือเป็นแหล่งผลิตแพะแหล่งสำคัญในอุตสาหกรรมเนื้อแพะแห่งออสเตรเลียเลยทีเดียว

แพะที่เลี้ยงในฟาร์มมักจะถูกเลี้ยงในพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่า และอยู่ในพื้นที่ทำเกษตรกรรมของออสเตรเลีย เนื่องด้วยสภาพแวดล้อม และฝูงแพะที่มีขนาดเล็กกว่า ทำให้เกิดเป็นการเลี้ยงแพะแบบเร่งรัด ใช้เวลาในการเลี้ยงสั้นกว่าแพะที่เลี้ยงในทุ่งหญ้า และใช้หลักการบริหารจัดการที่ใกล้เคียงกับการเลี้ยงแพะและวัวในประเทศ

จากการเลี้ยงแพะด้วยกากใยของเหลือจากอุตสาหกรรมในอดีต การเลี้ยงแพะในฟาร์มของออสเตรเลียเริ่มที่จะยกระดับของอุตสาหกรรมด้วยการนำแพะสายพันธุ์บอร์จากแอฟริกาใต้เข้ามาเลี้ยงในปี 1994 ด้วยความที่มีความแข็งแกร่งและอดทนโดยกำเนิด ทำให้นำมาเลี้ยงเป็นแพะเนื้อในฟาร์มได้อย่างง่ายดาย แพะพันธุ์บอร์ที่เติบโตในแอฟริกาใต้ตั้งแต่ในช่วงปี 1900 ได้รับการคัดเลือกมาเลี้ยงจากคุณภาพของเนื้อ มากกว่าปริมาณนมที่ได้ หรือขน จากการเลี้ยงที่พุ่งเป้าไปที่เนื้อทำให้แพะพันธุ์บอร์เติบโตในอัตราที่รวดเร็ว และสร้างมวลกล้ามเนื้อได้มาก ทำให้กลายเป็นเนื้อแพะเลี้ยงฟาร์มที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทั้งนี้ มีการนำแพะบอร์พันธุ์อึดมาผสมกับแพะในประเทศออสเตรเลียเพื่อให้เกิดเป็นแพะที่เหมาะกับสภาวะแวดล้อมที่แห้งแล้งของออสเตรเลียได้เป็นอย่างดี และยังผลิตเนื้อได้ในปริมาณที่สูงขึ้นได้อีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น การผสมข้ามสายพันธุ์ดังกล่าวทำให้เนื้อแพะออสเตรเลียไม่ได้เป็นสินค้าตามฤดูกาลอีกต่อไป แต่กลับเป็นสินค้าที่หาซื้อได้ในแทบจะทุกช่วงเวลาของปี

เนื้อลูกวัวออสเตรเลีย

เนื้อลูกวัวออสเตรเลีย

วิถีการเลี้ยงและชำแหละเนื้อลูกวัวจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ โดยเนื้อลูกวัวของออสเตรเลียจะมีความแตกต่างจากเนื้อลูกวัวของยุโรปและอเมริกา

ในออสเตรเลีย เราไม่ผลิต‘เนื้อลูกวัวขาว’ ซึ่งเป็นเนื้อที่ได้มากจากลูกวัวอายุประมาณ 18-20 สัปดาห์ที่ป้อนเฉพาะนม และมีการจำกัดการเคลื่อนไหว และปริมาณแสงแดดที่ได้รับ เนื่องจากออสเตรเลียมีระเบียบปฏิบัติที่เข้มงวดเกี่ยวกับการคุ้มครองคุณภาพชีวิตของสัตว์ ซึ่งกำหนดให้มีการเลี้ยงสัตว์แบบกลุ่มย่อยในพื้นที่เปิดโล่ง และให้อาหารด้วยนมกับหญ้า หรือนมกับธัญพืชเท่านั้น